ความมหัศจรรย์ของช่วงวัยเด็กวัย 3-4 ขวบ คือ เด็กจะเริ่มรวบรวม สังเกต และเรียนรู้ จากประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอ มาคิดวิเคราะห์ เพื่อความพร้อมในการเรียนรู้โลกกว้างได้อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยเสริมพัฒนาการด้านการคิดวิเคราะห์ และความมีเหตุผลให้กับลูก

 

รู้ใจเด็กวัย 3-4 ขวบ

 

เด็กช่วงก่อนวัยเรียนจะมีกระบวนการพัฒนาเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อม โดยการรวบรวมไว้จากประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การเข้าใจโลกรอบตัว แต่เด็กจะเข้าใจสิ่งที่ตาเห็นมากกว่าการเข้าใจโดยใช้หลักตรรกะ จึงจำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบหลายๆ ครั้ง ก่อนที่เขาจะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ ได้ โดยการเรียนรู้เกิดจากความยากลำบากและความผิดพลาดในแต่ละวัน สิ่งที่ต้องทำก็คือจดจำวิธีการหรือกระบวนการคิดของเด็กให้ได้ ซึ่งลักษณะส่วนใหญ่ของเด็กวัยนี้จะมีดังนี้

 


ตัดสินด้วยสิ่งที่เห็น: เมื่อเด็กเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มันเป็นการยากที่เด็กจะเข้าใจว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นแตกต่างกันอย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเทขนมรูปสัตว์ออกจากกล่องหนึ่งไปอีกกล่องหนึ่ง ซึ่งเล็กกว่า พอมันล้น หากเราถามว่าทำไมถึงมีขนมมากขึ้น เขาจะไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น

 

มองของสิ่งเดียวในเวลาเดียว : เด็กวัยนี้เป็นเรื่องยากที่เขาจะโฟกัสสิ่งของอื่นๆ ด้วย นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในการรับรู้ เขาจะมองเห็นของที่อยู่ในความสนใจเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น ถ้าหากเราให้บล็อกที่มีขนาดแตกต่างกัน ทั้งสีและรูปทรง เด็กวัย 3 ขวบ จะแบ่งเป็นกลุ่มด้วยการแยกขนาด ไม่ได้คำนึงถึงการแยกตามสี อย่างไรก็ตามเด็กจะเริ่มแยกได้หลายคุณสมบัติเมื่ออายุมากขึ้น

 

ไม่รู้เรื่องจำนวน: เด็กจะยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างจำนวน ตัวเลข และปริมาณ เช่น เขาอาจจะนับได้ว่าของเล่นมีกี่ชิ้น แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องปริมาณมากกว่าหรือน้อยกว่า ไม่รู้ว่าของห้าชิ้นมากกว่าของสามชิ้น หรือถ้าหากให้เหรียญสิบ กับเหรียญห้า เขาก็จะไม่เข้าใจว่าเหรียญสิบมีมูลค่ามากกว่าเหรียญห้า แต่ในความเข้าใจคือมีจำนวน 1 เหรียญเท่ากัน

 

พ่อแม่ทำอย่างไรดี?

 

เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้: คุณพ่อคุณแม่บางท่านที่มีลูกชอบกระโดดไปมาทางโน้นทางนี้วุ่นวายไปหมด สิ่งที่ควรทำก็คือพาลูกออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ หรือส่งเสริมให้ลูกได้มีวัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยให้เขาได้สำรวจหรือเรียนรู้โลกรอบตัวให้มากที่สุด

 

ส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นและทักษะในการคิด: ลองหาสิ่งแปลกใหม่และตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ทำอยู่ เช่น ให้เขาเปรียบเทียบความยาวของของใช้ต่างๆ ภายในบ้าน หรือหากิจกรรมที่ได้ใช้ทักษะในการออกแบบ เช่น ซื้อลูกปัดหลากสี และพวกหินต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้ออกแบบร้อยลูกปัดเป็นสร้อยคอ หรือการต่อโลโก้สร้างเป็นเมือง หรือปราสาทแสนสวย

 

อธิบายสิ่งที่เป็นเหตุและผลของเหตุการณ์ต่างๆ: ตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกได้คิดหาคำตอบด้วยตัวเองก่อน แล้วจึงค่อยอธิบายให้ลูกฟังเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจริง หรือจะให้ลูกลงมือทำเพื่อค้นหาคำตอบด้วยก็ได้ เช่น การทำไข่เจียว ปกติจะใช้ไข่เพียงแค่ 1-2 ฟอง ก็อาจจะถามว่า ถ้าเราใช้ไข่ 4 ฟองจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ลองให้ลูกบอกคำตอบไว้ล่วงหน้า แล้วทดลองไปพร้อมๆ กัน เมื่อเจียวไข่เสร็จแล้วก็ตรวจคำตอบไป โดยคุณอาจจะอธิบายในแง่ของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ไปด้วยก็ได้ หรือถ้าหากเป็นเด็กเล็กอาจจะสอนคำศัพท์จากการเจียวไข่ไปด้วย

 

ท้าทายให้เด็กใช้ความคิดสม่ำเสมอ: ในแต่ละวันเด็กๆ ควรจะได้เล่นต่อบล็อกและอ่านหนังสือหรือไม่ก็รื้อของเล่นอย่างอื่น เราก็ควรจะฉวยโอกาสนี้ บอกให้เขาจัดกลุ่มสิ่งของให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเขาจะจัดแบ่งตามขนาด สี หรือรูปทรงก็ได้ แล้วก็ให้เขาอธิบายถึงความแตกต่างของสิ่งของแต่ละชิ้นด้วย นอกจากนี้การตั้งคำถามให้เด็กจัดหมวดหมู่และแยกความแตกต่างของสิ่งของนี้ เราสามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่นได้เช่นกัน

 

ที่มา : http://www.kodomoclub.com/